ข้อความสารแสดงความยินดีจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๕ ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

ข้อความสารแสดงความยินดีจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๕ ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,343 view

ข้อความสารแสดงความยินดีจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๕ ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

 

* * * * * * * * * *

 

                    ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้แสดงความยินดีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในโอกาสครบรอบ ๕ ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation – MLC)

                     นับตั้งแต่การจัดตั้งเมื่อปี ๒๕๕๙ MLC ได้แสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยง ศักยภาพการผลิต ทรัพยากรน้ำ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน การเกษตรและการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ ในบรรดาความสำเร็จทั้งหลายของ MLC ประเด็นที่สมควรได้รับการกล่าวถึง ได้แก่ ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำที่ได้รับการยกระดับเป็นระดับรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๖๒  และการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้แสดงความจริงใจที่จะแบ่งปันข้อมูลน้ำตลอดทั้งปีกับประเทศสมาชิก MLC อื่น ๆ พัฒนาการข้างต้นเป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างแรงกล้าของประเทศสมาชิก MLC ในการส่งเสริมธรรมาภิบาลด้านการจัดการน้ำข้ามพรมแดนในลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง

                     ปัจจุบัน โลกได้ประสบกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคฯ และพื้นที่อื่นทั่วโลก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีประเทศใดสามารถรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดนได้ด้วยตนเองเพียงประเทศเดียว และความพยายามร่วมกันและความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดฯ รวมทั้งการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ สิ้นสุดลง ดังนั้น ประเทศสมาชิก MLC จึงต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ ให้กลับมาดีขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น (build back better, greener and smarter) โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังในสภาพแวดล้อมความปกติใหม่ (New Normal)

                     สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความยกย่องหุ้นส่วนและประเทศสมาชิก MLC สำหรับความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าของ MLC ผมมีความเชื่อมั่นว่า  ด้วยความร่วมมือที่มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดของทุกฝ่าย MLC จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนของอนุภูมิภาคฯ ต่อไปในอนาคต และประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการสนับสนุน MLC เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก MLC และประชาชนทั้งในและนอกอนุภูมิภาคฯ ต่อไป  

 

 

นายดอน ปรมัตถ์วินัย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ