สรุปสาระสำคัญ กฤษฎีการัฐบาลเวียดนาม ที่ 41/2020/ND-CP ลงวันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๒๐๒๐ เรื่อง ขยายเวลาการชำระภาษีและค่าเช่าที่ดิน

สรุปสาระสำคัญ กฤษฎีการัฐบาลเวียดนาม ที่ 41/2020/ND-CP ลงวันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๒๐๒๐ เรื่อง ขยายเวลาการชำระภาษีและค่าเช่าที่ดิน

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,555 view

คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ

สรุปสาระสำคัญ

กฤษฎีการัฐบาลเวียดนาม ที่ 41/2020/ND-CP ลงวันที่ ๘ เมษายน ค.ศ. ๒๐๒๐

เรื่อง ขยายเวลาการชำระภาษีและค่าเช่าที่ดิน

*   *   *   *   *

มาตรา ๑ กฤษฎีกานี้เป็นมติว่าด้วยการขยายเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าเช่าที่ดิน

มาตรา ๒ กฤษฎีกานี้ปรับใช้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

๑) ผู้ประกอบการ องค์กร ครัวเรือน บุคคล ที่ดำเนินธุรกิจการผลิตในสาขา ดังต่อไปนี้

      ก) เกษตร ป่าไม้ สัตว์น้ำ

      ข) การผลิตและแปรรูปอาหาร / สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ชุดเครื่องแบบ / เครื่องหนังและผลิตภัณฑ์หนัง / แปรรูปไม้และผลิตสินค้าจากไม้ ไม้ไผ่ ไม้รวก (ยกเว้นเตียง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้) / ผลิตสินค้าจากฟาง ฟางข้าว และวัสดุสำหรับร้อย จักสาน / กระดาษและสินค้าจากกระดาษ / ผลิตสินค้าจากยางและพลาสติก / ผลิตสินค้าจากแร่กึ่งโลหะ / ผลิตโลหะ / อุตสาหกรรมเครื่องจักร / แปรรูปและเคลือบโลหะ / ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และเลนส์ / ผลิตรถยนต์ และรถที่ใช้เครื่องยนต์ชนิดอื่น ๆ /
ผลิตเตียง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้

       ค) การก่อสร้าง

๒) ผู้ประกอบการ องค์การ ครัวเรือน บุคคล ที่ดำเนินธุรกิจการผลิตในสาขา ดังต่อไปนี้

     ก) การขนส่งและคลังสินค้า / บริการที่พักและอาหาร / การศึกษาและฝึกอบรม / การสาธารณสุขและกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ / อสังหาริมทรัพย์

    ข) บริการจัดหาแรงงานและจัดหางาน / หน่วยงานท่องเที่ยว บริการทัวร์ บริการสนับสนุนและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและจัดทัวร์

    ค) กิจกรรมสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรม และการความบันเทิง / ห้องสมุด แหล่งเก็บข้อมูล พิพิธภัณฑ์ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่น ๆ / กีฬา / กิจกรรมสันทนาการ / โรงภาพยนตร์

๓) ผู้ประกอบการ องค์กร ครัวเรือน บุคคล ที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ได้รับการส่งเสริม / สินค้าอุตสาหกรรมเครื่องจักร

๔) ธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็ก (Micro and Small Enterprises)

๕) องค์กรการเงิน ธนาคารต่างชาติที่มีสาขาในเวียดนาม ที่ปรับใช้แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ องค์กร บุคคล ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตามมติธนาคารแห่งชาติเวียดนาม

มาตรา ๓ การขยายเวลาชำระภาษีและค่าเช่าที่ดิน

๑) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มการส่งออกและนำเข้า)

    ก) ขยายเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเวลา ๕ เดือนนับจากวันที่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายการบริหารภาษี แก่ผู้ประกอบการตามมาตรา ๒ โดยขยายเวลารอบการชำระในเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน ๒๕๖๓ แก่ผู้ยื่นชำระภาษีรายเดือน และขยายเวลารอบการชำระในไตรมาสที่ ๑ และไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๓ แก่ผู้ชำระภาษีรายไตรมาส

    ข) ผู้ประกอบการตามมาตรา ๒ ที่มีสาขา หรือมีหน่วยงานภายใต้สังกัด ซึ่งยื่นชำระภาษี มูลค่าเพิ่มเอง ก็ได้รับการขยายเวลาชำระภาษีด้วย

๒) ภาษีเงินได้นิติบุคคล

     ก) ขยายเวลา ๕ เดือน สำหรับการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระตามรอบระยะเวลาบัญชีรอบปีภาษี ๒๕๖๒ และภาษีเงินได้นิติบุคคลยื่นชำระชั่วคราวไตรมาสที่ ๑ และ ๒ ของรอบปีภาษี ๒๕๖๓

     ข) ผู้ประกอบการตามมาตรา ๒ ที่มีสาขา หรือมีหน่วยงานภายใต้สังกัด ซึ่งยื่นชำระภาษี มูลค่าเพิ่มเอง ก็ได้รับการขยายเวลาชำระภาษีด้วย

๓) ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของครัวเรือน หรือบุคคลธรรมดาที่ดำเนินธุรกิจตามข้อ ๑) ๒) และ ๓) ในมาตรา ๒ ที่ต้องชำระในปี ๒๕๖๓  ขยายเวลาการชำระไปจนถึงไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๓

๔) ค่าเช่าที่ดินของผู้ประกอบการ องค์กร ครัวเรือน บุคคล ตามมาตรา ๒ ที่รัฐบาลให้เช่าที่ดินโดยตรงและชำระค่าเช่าที่ดินรายปี ขยายเวลาการชำระ ๕ เดือน นับจากวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ทั้งนี้ การปรับใช้กฤษฎีกานี้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ องค์กร ครัวเรือน บุคคลที่มีสัญญาการเช่าที่ดินโดยตรงจากรัฐบาลหลายรายการ และกำลังดำเนินธุรกิจหลายสาขาที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมถึงสาขาที่ระบุในข้อ ๑) ๒) ๓) และ ๕) มาตรา ๒ ของกฤษฎีกานี้ด้วย

๕) กรณีที่ผู้ประกอบการ องค์การ ครัวเรือน บุคคลที่กำลังดำเนินธุรกิจหลายสาขาแตกต่างกัน ซึ่งรวมถึงสาขาที่ระบุในข้อ ๑) ๒) ๓) และ ๕) มาตรา ๒ ของกฤษฎีกานี้ หากเป็นผู้ประกอบการหรือองค์กร จะได้รับการขยายเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมด หากเป็นครัวเรือนและบุคคลจะได้รับการขยายเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด ตามแนวทางของกฤษฎีกานี้

มาตรา ๔ ขั้นตอนการขอขยายเวลาชำระภาษี

๑) ผู้ชำระภาษีที่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับสิทธิ์ขยายเวลาชำระภาษียื่นแบบคำร้องขอขยายเวลาชำระภาษีและค่าเช่าที่ดิน (ผ่านช่องทางออนไลน์หรือช่องทางอื่น ๆ) ต่อสำนักงานสรรพากรที่ยื่นเรื่องโดยตรง โดยยื่นคำร้องขอขยายเวลาทุกรอบการชำระภาษีและค่าเช่าที่ดินเพียง ๑ ครั้ง ในช่วงเวลาเดียวกันกับการยื่นเอกสารชำระภาษีรายเดือน หรือรายไตรมาส ตามกฎหมายการบริหารภาษี ในกรณีที่แบบคำร้องไม่ได้ยื่นในช่วงเวลาเดียวกันกับการยื่นเอกสารชำระภาษี วันสุดท้ายของการยื่น คือ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓

กรณีที่ผู้ยื่นภาษีเช่าที่ดินจากรัฐบาลโดยตรงและมีที่ดินที่เช่าอยู่ในหลายจังหวัด ให้สำนักงานสรรพากรที่รับเรื่องโดยตรงจากผู้ยื่นชำระ ส่งแบบคำร้องไปยังสำนักงานสรรพากรในจังหวัดอื่น ๆ ที่ผู้ยื่นได้เช่าที่ดินอยู่ด้วย

๒) ผู้ยื่นคำร้องเป็นผู้รับผิดชอบการยื่นขอขยายระยะเวลาเอง หากยื่นแบบคำร้องล่าช้ากว่าวันที่
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ จะไม่ได้รับสิทธิ์ขยายเวลาชำระภาษีและค่าเช่าที่ดินตามที่ระบุในกฤษฎีกานี้

๓) สำนักงานสรรพากรไม่ต้องแจ้งยืนยันการขยายเวลาชำระภาษีและค่าเช่าที่ดินต่อผู้ยื่นคำร้อง ในช่วงการขยายเวลาชำระภาษี หากสำนักงานสรรพากรพบว่าผู้ยื่นคำร้องไม่เข้าเกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิ์ สำนักงานสรรพากรจะมีหนังสือแจ้งหยุดขยายเวลาชำระภาษีต่อผู้ยื่นคำร้อง และผู้ยื่นคำร้องจะต้องชำระภาษีและค่าเช่าที่ดิน และค่าปรับในการชำระล่าช้า อย่างครบถ้วน หากภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาการขยายเวลาชำระภาษีแล้วสำนักงานสรรพากรพบว่า ผู้ยื่นคำร้องไม่เข้าเกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิ์ ผู้ยื่นคำร้องจะต้องชำระภาษีที่ยังค้างชำระ ค่าปรับ และค่าชำระล่าช้าด้วย

๔) ในช่วงการขยายเวลาชำระภาษีและค่าเช่าที่ดิน โดยอ้างตามแบบคำร้อง สำนักงานสรรพากรจะไม่คิดค่าชำระล่าช้าสำหรับภาษีและค่าเช่าที่ดินที่ได้รับการขยายเวลา (รวมถึงกรณีที่ยื่นแบบคำร้องต่อสำนักงานสรรพากรหลังจากที่ได้ยื่นแบบสำแดงภาษีรายเดือนหรือรายไตรมาส ภายในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓

มาตรา ๕ หน่วยงานผู้รับผิดชอบและการบังคับใช้

๑) กฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนาม

๒) กระทรวงการคลังรับผิดชอบสั่งการ ดำเนินการ และจัดการอุปสรรคจากการปรับใช้กฤษฎีกานี้

๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการหน่วยงานเทียบเท่ากระทรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการในหน่วยงานรัฐบาล ประธานคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด นครที่ขึ้นตรงกับส่วนกลาง และผู้ประกอบการ องค์การ ครัวเรือน และบุคคล ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามกฤษฎีกานี้

 

ลงนามและประทับตรา

นายเหวียน ซวน ฟุก

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม (ในนามของรัฐบาลเวียดนาม)

*   *   *   *   *

 

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

๑๐ เมษายน ๒๕๖๓