ความสัมพันธ์ไทย - เวียดนาม

ความสัมพันธ์ไทย - เวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,683 view

ความสัมพันธ์ไทย - เวียดนาม

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนาม

1.ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป

- ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519 และเปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงฮานอย และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ เมื่อปี 2521 และ 2535 ตามลำดับ  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประกอบด้วยสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ส่วนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ประกอบด้วยฝ่ายการพาณิชย์ และสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

- ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย - เวียดนาม ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีมาก  มีการแลกเปลี่ยน           การเยือนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันเพิ่มขึ้น รวมถึงในระดับท้องถิ่นจากการที่มีเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันค่อนข้างสะดวก

- เมื่อมิถุนายน 2556 ผู้นำสองฝ่ายได้ประกาศยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) (เวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไทยมีความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ส่วนเวียดนามมีความสัมพันธ์ดังกล่าวกับไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์) และระหว่างการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 สองประเทศได้ลงนามในแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - เวียดนาม ปี 2557 – 2561

- ในปี 2559 ทั้งสองประเทศได้ดำเนินกิจกรรมเฉลิมฉลองการครบรอบ 40 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ในทุกภาคส่วน

- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในทุก ๆ ด้าน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่มั่นคงและความเข้าใจอันดีระหว่างกัน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาและเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

2.ความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคง

- ไทยและเวียดนามมีการวางกรอบความร่วมมือทวิภาคีหลายด้านในระดับต่าง ๆ มีกรอบการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม อย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) การประชุมคณะกรรมธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม (Joint Commission on Bilateral Cooperation: JCBC) ซึ่งเป็นกลไกการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่ดูแลกรอบความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือในภาพรวม

- ประเด็นด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยและเวียดนามอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (Joint Working Group on Political and Security Cooperation: JWG on PSC) ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนามเป็นประธานร่วม โดยไทยและเวียดนามตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นในอนุภูมิภาค

- สำหรับด้านการทหาร ไทยและเวียดนามมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดทุกระดับ ทั้งระหว่างกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อาทิ การเยือนของผู้บัญชาการกองทัพไทย และผู้บัญชาการเหล่าทัพ การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านความมั่นคง การลาดตระเวณร่วมทางทะเล เป็นต้น

3. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

3.1 การค้า

เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทย โดยในปี 2560 มูลค่าการค้ารวม 15,281.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าการส่งออก 10,495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยนำเข้าจากเวียดนาม 4,768 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563 มีการจัดงานเทศกาลสินค้าเวียดนามในประเทศไทย (Vietnamese Goods Week) เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2559

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลไม้สด เหล็กและเหล็กกล้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า

สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า ด้ายและเส้นใย น้ำมันดิบ กาแฟ ชา เครื่องเทศ เคมีภัณฑ์ ถ่านหิน และเครื่องมือวิทยาศาสตร์การแพทย์

3.2 การลงทุน

     การลงทุนของไทยในเวียดนาม

ในปี 2560 ไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับ 10 ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม จากมูลค่าลงทุนสะสมรวม 8,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11) รวม 471 โครงการ 

สาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อาหารสัตว์ โรงแรม การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์ และภัตตาคาร

ผู้ลงทุนรายใหญ่ของไทยในเวียดนาม ได้แก่

  1. นิคมอุตสาหกรรมอมตะ
  2. กลุ่มบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)
  3. กลุ่มบริษัทเซ็ลทรัล
  4. กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)
  5. สยามซิเมนต์กรุ๊ป (SCG)-โรงงานกระดาษ Vina Kraft/ธุรกิจสุขภัณฑ์/ธุรกิจจัดจำหน่าย
  6. บริษัทไทยซัมมิท
  7. บริษัทศรีไทยซูเปอร์แวร์-ผลิตภัณฑ์กล่องพลาสติและเมลามีน และการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่นครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย จ.ด่องไน และ จ.บิงห์เซือง

 

การลงทุนของเวียดนามในไทย

          การลงทุนของเวียดนามในไทยที่ขอรับการส่งเสริมผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment – BOI) ตั้งแต่ปี 2540 – 2560 มี 5 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 5,406.61 ล้านบาท เป็นกิจการบริการการขนส่งทางอากาศ 5,325.81 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร 33.95 ล้านบาท กิจการจัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ 22.17 ล้านบาท กิจการบริการสอบเทียบเครื่องมือมาตรฐาน 15 ล้านบาท กิจการซอฟแวต์ 9.70 ล้านบาท ซึ่งสายการบิน Thai Viet - Jet Air Joint Stock Company Ltd. เป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุด

3.3 การท่องเที่ยว

ทั้งสองประเทศมีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2537 และมีความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2543

ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเวียดนาม 301,587 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมายังเวียดนามจำนวน 12,922,151 คน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวเวียดนามเดินทางมายังไทย 867,712 คน

ปัจจุบันมีคนไทยประมาณ 1,500 คน พำนักอาศัยอยู่ในกรุงฮานอยและจังหวัดใกล้เคียงอีกประมาณ 500 คน พำนักอยู่ในนครโฮจิมินห์และจังหวัดใกล้เคียงประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนักธุรกิจ พนักงานบริษัท และแม่บ้าน ส่วนคนเวียดนามที่พำนักอาศัยอยู่ในไทย มีจำนวน 1,200 - 1,300 คน (ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักศึกษาทีศึกษาในระดับอุดมศึกษา)

4. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและวิชาการ

- ไทยและเวียดนามลงนามในความตกลงด้านวัฒนธรรมเมื่อปี 2539 และมีความร่วมมือ/แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนอกจากนั้น ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามยังเป็นพลังสำคัญ ในการผลักดันความร่วมมือด้านดังกล่าวด้วยอีกทางหนึ่ง

- ไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่เวียดนามตั้งแต่ปี 2535  ผ่านกรอบการประชุมความร่วมมือทางวิชาการไทย-เวียดนาม ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ปัจจุบันมีการแลกเปลี่ยนการสอนภาษาโดยมีการสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย 5 แห่งของเวียดนาม (ที่กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์และนครดานัง) และสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่งก็เปิดการสอนภาษาเวียดนาม

- หมู่บ้านมิตรภาพไทย - เวียดนาม ที่บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ที่อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์เคยพำนักในช่วงกอบกู้เอกราช ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่สำคัญและถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-เวียดนาม โดยจังหวัดนครพนมได้ทำพิธีเปิดศูนย์มิตรภาพนครพนม-ฮานอย อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 สำหรับอนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ ได้ทำพิธีเปิดเมื่อ 18 พฤษภาคม 2559

- ศาสนาเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ชาวไทยและชาวเวียดนามมีความใกล้ชิดและความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีชาวเวียดนามเพียงร้อยละ 9.3 เท่านั้นที่นับถือศาสนาพุทธ (นิกายมหายาน) นับตั้งแต่ปี 2547 ประเทศไทยได้นำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายที่เวียดนามเป็นประจำทุกปี

- กลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและกระชับความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างไทยและเวียดนาม ได้แก่ สมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม และสมาคมมิตรภาพเวียดนาม-ไทย ซึ่งสมาคมมิตรภาพทั้งสองได้หมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพการประชุมและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมและโครงการ
 

5. ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ

5.1 การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

- เมื่อวันที่ 18-21 ธันวาคม 2502 เสด็จฯ เยือนเวียดนามใต้*

 

* ในช่วงเวลาดังกล่าวเวียดนามยังคงแยกเป็น 2 ประเทศคือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

- เมื่อ วันที่ 15-20 พฤศจิกายน 2535 เสด็จฯ เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคำเชิญของประธานาธิบดีเล ดึ๊ก แอง (Le Duc Anh) และต่อมาได้เสด็จฯ เยือนเวียดนามอีกหลายครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 5-9 กันยายน 2540 และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2548 และ 24 ธันวาคม 2550 (ทรงทำการบินไปนครโฮจิมินห์) 31 มกราคม 2551 (ทรงทำการบินไปกรุงฮานอย) และ 13 พฤษภาคม 2551 (ทรงทำการบินไปนครดานัง)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

- เมื่อวันที่ 17-23 กุมภาพันธ์ 2536 เสด็จฯ เยือนเวียดนาม ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีโว วัน เกี๊ยต (Vo Van Kiet) ต่อมาเสด็จฯ เยือนเวียดนามครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-21 เมษายน 2543 และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 เสด็จฯ เยือนเพื่อทรงนำคณะนักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ และคณาจารย์รวม 84 คน ทัศนศึกษา ณ กรุงฮานอย และต่อมา  ได้เสด็จฯ เยือนเวียดนามอีกหลายครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 7-13 มีนาคม 2537  เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2552  เมื่อวันที่ 20-22 เมษายน 2554  และล่าสุดเมื่อวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2558

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

- เมื่อวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2541 เสด็จฯ เยือนเวียดนามและต่อมาได้เสด็จฯ เยือนเวียดนามอีกหลายครั้ง อาทิ เมื่อวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2544 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2546 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2546  เมื่อวันที่ 14 – 18 กรกฎาคม 2551 เมื่อวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2553  เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2554

พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์

- เมื่อวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2548 เสด็จเยือนเวียดนาม เพื่อทรงแข่งขันแบดมินตัน

รัฐบาล

นายกรัฐมนตรี (นายอานันท์ ปันยารชุน)

- เมื่อวันที่ 15-17 มกราคม 2535 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย)

- เมื่อวันที่ 16-19 มีนาคม 2537 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา)

นายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ)

- เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2540 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร)

- เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2544 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ และต่อมาได้เยือนเวียดนามอีกหลายครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย

- เวียดนาม ครั้งที่ 1 และเมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2547 เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ ASEM ครั้งที่ 5

นายกรัฐมนตรี

- เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ และต่อมาเมื่อวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2549 ได้เยือนเวียดนาม เพื่อร่วมประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 14

นายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช)

- เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์)

- เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2551 เยือนเวียดนามเพื่อร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิร วดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 3

นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

- เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

- เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

-ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2557 เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

-ระหว่างวันที่ 10- 12 พฤศจิกายน 2560 เยือนเวียดนามเพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 25

-ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2561 เยือนเวียดนามเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Summit) ครั้งที่ 6

ฝ่ายเวียดนาม

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ (นายเหวียน ฝู จ่อง)

-เยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 25 – 27 มิถุนายน 2556 และประกาศยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

ประธานาธิบดี (นายเจิ่น ดึ๊ก เลือง)

- เมื่อวันที่ 6-8 ตุลาคม 2541 เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (State Visit)

นายกรัฐมนตรี (นายฟาม วัน ดง)

- เมื่อวันที่ 6-10 กันยายน 2521 เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายโว วัน เกี๊ยต)

- เมื่อวันที่ 27-30 ตุลาคม 2534 เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรี (นายฟาน วัน ข่าย)

- เมื่อวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2543 เยือนไทยอย่างเป็นทางการ และต่อมาได้เยือนไทยอีกหลายครั้ง ได้แก่ เมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคม 2546 เพื่อร่วมประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 เพื่อร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม ไทย - เวียดนาม ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดนครพนม และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 เพื่อร่วมประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 2

นายกรัฐมนตรี (นายเหวียน เติน สุง)
- เมื่อวันที่ 20-21 ธันวาคม 2549 เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2553 เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 (1st MRC Summit) ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

-เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และเป็นประธานร่วมการประชุม ครม. ไทย – เวียดนาม

นายกรัฐมนตรี (นายเหวียน ซวน ฟุก)

- วันที่ 28 ตุลาคม 2559 เยือนไทยเพื่อถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

- ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2560 เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

-ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน 2561 เพื่อเข้าร่วมการประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ 8 และ CLMV Summit ครั้งที่ 9 ที่กรุงเทพฯ

รองประธานาธิบดี (นางดัง ถิ หง็อก ถิง)

- ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน  2560 เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

นายเจิ่น ดั๊ก เหลย รองประธานคนที่ 1 ของคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

-ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2561

6. เรื่องอื่น ๆ

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 รัฐบาลไทยได้มอบความช่วยเหลือผ่านกาชาดเวียดนาม จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ  เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่เวียดนามต่อกรณีความเสียหายจากพายุ Ketsana  โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอยเป็นผู้แทนส่งมอบความช่วยเหลือดังกล่าวผ่าน ดร. Tran Ngoc Tang ประธานกาชาดเวียดนาม

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 รัฐบาลไทยได้มอบความช่วยเหลือแก่รัฐบาลเวียดนาม สำหรับเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบทศวรรษในเขตภาคกลางและเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบเงินช่วยเหลือจำนวน 3 ล้านบาทให้กับเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ในนามรัฐบาลไทย

ในเดือนพฤศจิกายน 2554 เวียดนามได้ให้ความช่วยเหลือด้านอุทกภัยในไทยโดยรัฐบาลเวียดนามมอบเงินช่วยเหลือ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย และสภากาชาดเวียดนามมอบเงินจำนวน 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2560 รัฐบาลไทยได้มอบเงินบริจาคให้แก่ 5 จังหวัดที่ประสบผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (จังหวัด Thanh Hoa ,Khanh Hoa, Son La, Hoa Binh และ Quang Tri) รวม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลและภาคเอกชนไทยได้ร่วมสมทบทุน มอบเงินบริจาคอีกจำนวน 92,300 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในเขตจังหวัดทางภาคเหนือของเวียดนาม